วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประวัติ ศาสตร์ บ้านเรือนไทย



ประวัติศาสตร์บ้านเรือนไทย
ประวัติศาสตร์บ้านเรือนไทย
หลักฐานของบ้านเรือนไทยตั้งแต่สมัยโบราณเก่าแก่นับแต่ล่วงพ้นเลยพุทธ ศตวรรษที่  ๑๘  ไปแล้ว  ไม่ปรากฏมีประจักษ์พยานทางโบราณคดีให้เห็น  แต่เท่าที่ประมวลหลักฐานอย่างหยาบ ๆ ดูแล้วเข้าใจว่า  บ้านเรือนที่อยู่อาศัยของผู้คนในดินแดนแหลมทอง  โดยเฉพาะในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา  รวมทั้งภาคใต้คงจะอาศัยอยู่ในเรือนเสาสูง  หลังคามุงแฝกกับหญ้าคา  (อันเป็นบ่อเกิดของคำว่าหลังคา)  เครื่องบนหลังคาก็คงเป็นโครงสร้างของหลังคาสูงเป็นแบบจอมแห  อันเป็นธรรมชาติการก่อสร้างของชาวพื้นเมืองแถบเอเชียงอาคเนย์  ซึ่งนิยมสร้างบ้านเรือนของชนขั้นสามัญชนระดับกลางและระดับต่ำด้วยการสร้าง หลังคาเป็นโครงสร้างไม้ไผ่  หรือถ้าจะเป็นเรือนไม้แบบเรือนสับก็ต้องใช้หลังคาเป็นสามเหลี่ยมลาดสูง  เพราะในดินแดนแถบนี้อยู่ในร่องมรสุม  มีพายุฝนรุนแรงเป็นประจำ  หากใช้หลังคาลาดต่ำก็ไม่อาจทนทานต่อลมและฝนที่กระหน่ำอย่างหนักหน่วงได้  เนื่องด้วยการมุงหลังคาด้วยหญ้าคาหรือแฝกกับใบไม้  เช่น  ใบจาก  ถ้ามุงหลังคาต่ำพายุฝนอาจจะตลบเปิดหลังคาทำให้หลังคารั่วได้  หรือมิฉะนั้นหลังคาลาดต่ำก็ไม่ช่วยผ่อนแรงรับน้ำหนักน้ำฝน  ถ้าโครงสร้างหลังคาอันทำด้วยไม้ไผ่เกิดมีมอดและปลวกกินก็จะเปราะหักครืนลงมา ยามเมื่อฝนกับลมพายุกระหน่ำอย่างรุนแรง
จากรูปถ่ายโครงสร้างหลังคาของอาคารบ้านเรือนในสมัยทวารวดีที่ถ้ำกาญจนดิษฐ์  สุราษฎ์ธานี  มีรูปปั้นนูนด้วยดินเหนียวอยู่บนผนังถ้ำ  เห็นโครงสร้างหลังคาแบบ  จั่วหน้าพรหม  เหมือนกับที่เราเห็น  จากใบเสมาที่เมืองฟ้าแดดสงยาง  กาฬสินธุ์  (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  ขอนแก่น)  การวางขื่อแล้วทำลูกตั้งซ้อนกันเป็นชั้น ๆ  แบบจั่วหน้าพรหมนี้  เป็นลักษณะปฐมของโครงสร้างบ้านเรือนของชาวพื้นเมืองในดินแดนไทยประเทศ
หลักฐานจากชิ้นส่วนของรูปปั้นสถาปัตยกรรมเคลือบที่เรียกว่า  สังคโลก  พบยังศรีสัชนาลัย   มีการระบายสีหนักประกอบให้เห็นโครงสร้างด้านตัดของจั่วเป็นจั่วแบบหน้า พรหม  เห็นลักษณะการเข้าไม้แบบ  ลูกฟัก  มี  ปีกนก  และใต้ชื่อลงมาเป็น  ฝาปะกน  และมี  โก่งคิ้ว  ปั้นลม  เป็นแบบนาคลำยอง  ทำให้ได้รับความรู้ว่าสถาปัตยกรรมอาคารไม้ของอาณาจักรศรีสัชนาลัย  สุโขทัยนั้น  เป็นแบบเรือนฝาปะกนที่เรารู้กันในปัจจุบันนี่เอง  และถ้าเป็นอาคารอุโบสถ  วิหาร  มีโก่งคิ้ว  และนาคลำยอง  ก็คล้ายกับสถาปัตยกรรมของอาณาจักรเชียงใหม่ทางล้านนาดินแดนถัดไปทางเหนือ นั้น
สภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของกลุ่มชนชาวไทยเท่าที่ดูจากสถาปัตยกรรมที่ปรากฏ หลักฐานทางโบราณวิทยาดังที่อ้างมาแล้วนี้  เห็นได้ว่าชนชาติในดินแดนแถบนี้ได้มีศิลปวัฒนธรรมที่ต่อเนื่องกันมานับ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่  ๑๑  ลงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่  ๑๘  โดยไม่ขาดตอน  ซึ่งมองเห็นได้จากการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนที่มีแบบแผนอันเดียวกัน








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น